Beauty Inspiration!

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเครือข่ายชมรมเพื่อนมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ บูรณาการความร่วมมือชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทยและโนวาร์ตีส เดินหน้าสร้างความตระหนักและเข้าใจ A Mile to Smile ก้าวต่อไป เพื่อรอยยิ้มของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเครือข่ายชมรมเพื่อนมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ บูรณาการความร่วมมือชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทยและโนวาร์ตีส เดินหน้าสร้างความตระหนักและเข้าใจ A Mile to Smile ก้าวต่อไป เพื่อรอยยิ้มของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

 
1728018236471

กรุงเทพฯ 3 ตุลาคม 2567 :  เดือนตุลาคมของทุกปี เดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม World Breast Cancer Awareness Month ซึ่งถือได้ว่าเป็นมะเร็งร้ายอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดย ศูนย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับ TBCC ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย และบริษัท โนวาร์ตีส ประเทศไทย จำกัด บูรณาการความร่วมมือจัดกิจกรรม Pink Power, A Mile to Smile ก้าวต่อไปเพื่อรอยยิ้มของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม” ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักและเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ตลอดจนผู้ดูแลและประชาชนผู้ที่สนใจ พร้อมเปิดเครือข่ายชมรมเพื่อนมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นสื่อกลางในการรวมกลุ่มของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น 

IMG_20241004_120728_(900_x_600_%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%A5)

โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ นำทีมแพทย์สหสาขาด้านโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ นำโดย แพทย์หญิงจอมธนา ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งวิทยา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฏิบัติการ แพทย์หญิงปิยะรัตน์ ลิมปวิทยากุล แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา และนายแพทย์ธไนศวรรย์ ปลูกผล แพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา เสวนาให้ความรู้นวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็งมะเร็งเต้านม และการร่วมผนึกสร้างพลังสีชมพูของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยมี คุณอรวรรณ โอวรารินท์ ประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย , คุณไอรีล ไตรสารศรี รองประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย , เภสัชกรหญิงสุมาลี คริสธานินทร์ ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วย คุณโอปอล-สุชาตา ช่วงศรี มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2567 , คุณพีรดา พีรศิลป์ นักเขียนและบรรณาธิการอิสระกับชีวิตที่ต้องเผชิญกับมะเร็งเต้านมสู่จุดเปลี่ยนของชีวิตและการค้นพบความสุขที่แท้จริง , คุณกัญณัฏฐ์ พิมไธสง ตัวแทนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และ ดร.หทัยทิพย์ จิระธันห์ เป็นพิธีกรดำเนินรายการเพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์และส่งมอบกำลังใจเพื่อรอยยิ้มผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ภายในงานยังได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญพิเศษ คุณรัดเกล้า อามระดิษ ร่วมมอบบทเพลงเพื่อส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้น ณ ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

IMG_20241004_120843_(900_x_601_%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%A5)
IMG_20241004_120702_(900_x_600_%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%A5)

“มะเร็งเต้านม” เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของสตรีไทยและสตรีทั่วโลก โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านมสากล เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญต่อสุขภาพเต้านมของตนเอง และด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบัน โรคมะเร็งเต้านมสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษารวดเร็วและได้ผลดี เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้สูงขึ้น และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้ผนึกความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรม Pink Power, A Mile to Smile ก้าวต่อไปเพื่อรอยยิ้มของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยเปิดเวทีเสวนาให้ความรู้ในเรื่อง “นวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็งมะเร็งเต้านม” ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งมุ่งเน้นการให้บริการทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็งที่เป็นเลิศแก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ขาดแคลนเพื่อให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการตรวจรักษาโรคมะเร็งที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม สนองการดำเนินงานตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์แห่งนี้ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยมะเร็งและญาติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ การค้นคว้าวิจัยทางด้านวิชาการ ตลอดจนยกระดับและพัฒนาด้านการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ ทั้งนี้ จากสถิติการรักษาผู้ป่วยมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ มะเร็งเต้านม โดยตั้งแต่ปี 2561 – 2566 มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนถึงแม้จะเป็นมะเร็งเต้านมเหมือนกัน แต่การรักษาแตกต่างกัน โดยแพทย์จะคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะของตัวโรค , ชนิดของมะเร็งเต้านม , pattern การกระจายตัวของโรค , อาการของผู้ป่วย , ความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมียามุ่งเป้าที่ออกฤทธิ์จำเพาะกับมะเร็งเต้านมซึ่งเลือกใช้ให้ตรงกับแต่ละชนิดของมะเร็งเต้านม ยกตัวอย่างเช่นในชนิด luminal subtype ที่มีการติดตัวรับฮอร์โมนเป็น positive ส่วน HER2 negative นั้น ก็จะมียามุ่งเป้าแบบกินที่บวกเข้าไปกับการกินยาต้านฮอร์โมนธรรมดา ซึ่งมีข้อมูลว่าช่วยคุมตัวโรคได้นานขึ้นและส่งผลให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นได้ อีกทั้งยาดังกล่าวผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัดด้วย ส่วนในชนิด HER2 positive ก็มีการใช้ยามุ่งเป้าแบบฉีดที่เป็นยาต้าน HER2 โดยให้คู่กันกับยาเคมีบำบัดก็จะช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาได้มากขึ้นและมีผลข้างเคียงน้อย สำหรับปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ , พันธุกรรม เช่น การกลายพันธุ์ของ ยีน BRCA-1 หรือ BRCA-2 หรือการมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ทานยาคุมกำเนิดหรือยาฮอร์โมนทดแทนนานเกิน 10 ปี หรือเคยได้รับการฉายแสงบริเวณทรวงอกเมื่ออายุน้อย เป็นต้น การให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชนว่าการตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะต้น ๆ และได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วเป็นแนวทางในการลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมได้ โดยแนวทางตรวจคัดกรอง มะเร็งเต้านม แนะนำให้ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป หมั่นตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน หลังมีประจำเดือนสัปดาห์ และผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองด้วยวิธีแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์เต้านมทุกปี สำหรับผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกเต้านมตรวจตามคำแนะนำแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษา และสำหรับผู้ที่มีผลการตรวจทางพันธุกรรมที่ผิดปกติควรตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุน้อยและบ่อยมากกว่าคนปกติ 

IMG_20241004_120757_(900_x_600_%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%A5)

สำหรับการเสวนาในช่วงแบ่งปันประสบการณ์จากเครือข่ายผู้ป่วย My Breast Friend Sharing โดยชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีตัวแทนทั้งจากผู้ป่วยปัจจุบัน และอดีตผู้ป่วย รวมไปถึงผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยมาร่วมพูดคุยเสวนา โดยคุณพลอย-กัญณัฏฐ์ พิมไธสง เป็นตัวแทนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้เล่าถึงประสบการณ์การอยู่กับมะเร็งเต้านมด้วยรอยยิ้ม ความประทับใจและมั่นใจในการรักษากับทีมแพทย์สหสาขาที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยคุณพลอยได้เล่าว่า “ตรวจพบมะเร็งเต้านมในช่วงโควิดไม่นาน เส้นทางการรักษามีทั้งผ่าตัด คีโม ฉายแสง และรับยามุ่งเป้า ทุกวันนี้พลอยก็ยังเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลอยู่นะคะ ยังรับประทานยามุ่งเป้า และมาพบหมอเพื่อตรวจติดตามอาการสม่ำเสมอ คุณหมออธิบายให้ฟังเรื่องแผนการรักษา ทำให้เข้าใจและรู้สึกอบอุ่นใจมากค่ะ ความประทับใจตลอดระยะเวลาที่พลอยได้ใช้บริการที่นี่ การที่เราได้รักษากับโรงพยาบาลที่มีความพร้อม กับทีมหมอที่เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็ง บุคลากรทั้งพยาบาลและเภสัชกรที่มีความรู้ในโรคมะเร็ง มันทำให้สุขภาพจิตใจของเราดีขึ้น คลายกังวล ต้องขอบคุณคุณหมอประจำตัวพลอยนะคะคือคุณหมอปิยะรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยา คุณหมอคือคนที่อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มของพลอยด้วยนะคะ และก็ขอบคุณมาก ๆ ที่เชิญพลอยมาเล่าประสบการณ์ในวันนี้เช่นเดียวกัน”

IMG_20241004_120816_(900_x_599_%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%A5)

ด้านคุณพีรดา พีรศิลป์ นักเขียนและบรรณาธิการอิสระกับชีวิตที่ต้องเผชิญกับประสบการณ์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมากับการเป็นมะเร็งถึง 3 ครั้ง โดยนำมุมมองมาแบ่งปันว่านอกจากเชื่อมั่นในการรักษาแล้ว ต้องเชื่อมั่นในตัวเองด้วยโดยเมื่อมะเร็งทำให้ชีวิตเปลี่ยน การใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งอย่างมีความสุขในแบบตนเอง ซึ่งความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่พัฒนาไปเยอะมาก ๆ ทำให้ผลข้างเคียงจากคีโมก็น้อยลง มียามุ่งเป้า มีการรักษาใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และรอดชีวิตมากขึ้น โดยเธอตัดสินใจผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง เพื่อลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้างในอนาคต และทำความรู้จักโรค รู้จักตัวเอง อยู่กับมะเร็งอย่างเข้าใจ มะเร็งรักษาหายได้ แต่ก็อาจจะกลับมาเป็นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ โดยการเป็นมะเร็งแล้ว อย่าโทษโชคชะตา อย่าโทษตัวเองสิ่งที่เราทำได้คือยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนตัวเอง แล้วชีวิตเราก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ดูแลตัวเองให้แข็งแรง เพื่อรับมือกับการรักษา พร้อมเป็นพลังใจให้กับผู้ป่วยทุกคนโดยเธอกล่าวว่า “อยู่กับปัจจุบัน อย่ากังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อย่าเสียเวลากับความทุกข์ และมีความสุขกับทุกวัน ถ้าเราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ จงเปลี่ยนแปลงตัวเอง”

IMG_20241004_120833_(900_x_600_%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%A5)

ในส่วนของคุณโอปอล-สุชาตา ช่วงศรี มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2567 ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่คลำพบก้อนที่ผิดปกติบริเวณเต้านมทำให้รีบไปตรวจและปรึกษาหมอ ซึ่งปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยและการรักษาทันสมัยมาก ยิ่งตรวจเร็วรู้เร็วรักษาได้ทันก็มีโอกาสหายขาด โดยคุณโอปอลเล่าว่า “ตอนที่โอปอลเจอว่ามีความผิดปกติที่เต้านม จึงตัดสินใจบอกคุณแม่แล้วไปตรวจที่โรงพยาบาลพอตรวจกับคุณหมออย่างละเอียดจึงรู้ว่าก้อนไม่ใช่ไขมันแต่เป็นก้อนเนื้อส่วนเกินที่เต้านมทั้งสองข้างขนาด 8 ซม. และ10 ซม. โอปอลรู้ว่าการที่ผู้หญิงมีก้อนเนื้อหรือซีสต์ที่หน้าอกในผู้หญิงอาจเกิดขึ้นเมื่ออายุ 30-40 ปีขึ้นไป เพราะเราโตมากับคุณแม่และคุณป้าเป็นมะเร็งเต้านม ตอนนั้นไม่รู้ว่ามันจะมาเกิดขึ้นกับตัวเองได้ยังไง ยิ่งคิดยิ่งกลัวมากขึ้น มีสิ่งที่อยากจะทำหลาย ๆ อย่างตามความฝัน กลัวว่าชีวิตนี้จะไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ หลังจากที่ฟื้นจากการผ่าตัดจึงเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เพราะว่าฉันรอดตายแล้ว หลังจากนี้ชีวิตฉันจะทำสิ่งที่อยากทำ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นบอก หรือสิ่งที่คนอื่นมองเรา แต่คือสิ่งที่การที่เราตั้งเป้าหมายลงมือทำกล้าเริ่มทำสิ่งที่เคยกลัวค่ะ โดยจากประสบการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้โอปอลมีความตระหนักรู้ในการตรวจเช็กเต้านมตัวเองสม่ำเสมอ ไปตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเพื่อเฝ้าระวัง หากเจอความผิดปกติรีบไปพบหมอเพื่อจะได้รักษาทัน และเพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต และขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วย ผู้ดูแล และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนค่ะ”

IMG_20241004_120908_(900_x_600_%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%A5)
IMG_20241004_120856_(900_x_600_%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%A5)

ภายในงาน Pink Power, A Mile to Smile ก้าวต่อไปเพื่อรอยยิ้มของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายชมรมเพื่อนมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดพื้นที่การสื่อสารผ่าน facebook : ชมรมเพื่อนมะเร็งเต้านม-โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลและกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์และผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ส่งต่อพลังและแรงบันดาลใจในการทำงานให้การขยายผลเครือข่ายบุคลากรการแพทย์สหสาขาวิชา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมให้เข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ พร้อมร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันและกันในการดำเนินชีวิต เพื่อส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการจัดบูธกิจกรรมต่าง ๆ  อาทิ กิจกรรมให้คำปรึกษาโรคมะเร็งเต้านม, แนะนำการตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง, แนะนำสิทธิการรักษา, การดูแลสุขภาพระหว่างการรักษา โดยทีมพยาบาลและเภสัชกร โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ บูธกิจกรรมธนาคารเต้านมเทียม การสอนเย็บเต้านมเทียม เป็นต้น สามารถติดตามรับชมกิจกรรมฯ ย้อนหลังผ่านระบบออนไลน์ได้ทาง Facebook Live : โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ , Facebook Live : TBCC ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย และช่อง Youtube CRA Chulabhorn Channel