บำรุงราษฎร์ กางแผนทิศทางดำเนินงานในปี 2565 พลิกโฉมการแพทย์แห่งอนาคต
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จัดงานแถลงข่าวครั้งสำคัญแสดงวิสัยทัศน์และทิศทางการแพทย์แห่งอนาคต (Bumrungrad: Shifting the Future of Healthcare) เพื่อตอกย้ำคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของผู้ป่วย อันเป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์บำรุงราษฎร์ที่มีมาอย่างยาวนานถึง 42 ปี รวมถึงความพร้อมทางการแพทย์และนวัตกรรมทางการแพทย์ ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อการกลับมาขับเคลื่อนสู่ความเป็นผู้นำทางการแพทย์ของไทยอีกครั้ง ในด้าน Medical and Wellness Destination ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ
ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 42 ในปี 2565 นี้ และยังคงสานต่อปณิธานการก่อตั้งโรงพยาบาลฯ ที่ต้องการให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากลของคนไทย เพื่อให้การบริบาลและส่งมอบผลลัพธ์ทางการรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ให้กับผู้มารับบริการทุกคน โดยไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อมุ่งหวังแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเอื้อประโยชน์ต่อสังคมด้วย
สำหรับก้าวต่อไปนับจากนี้ ซึ่งเป็น Healthcare Trend ที่สำคัญของโลก บำรุงราษฎร์มุ่งมั่นเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ Smart Healthcare 5.0 เพื่อการดูแลสุขภาพครอบคลุมทุกมิติ โดยยังคงให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของผู้ป่วย อีกทั้งยังยกระดับการให้บริการเพื่อส่งมอบการดูแลรักษาสุขภาพระยะยาว (Lifetime value health partner) ในทุกช่วงอายุเพื่อให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในขณะที่ทิศทางการแพทย์ บำรุงราษฎร์ยังมุ่งพัฒนาการรักษาในระดับจตุตถภูมิ (Quaternary Care) รวมถึงการยกระดับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) เพื่อพัฒนาความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคยากและโรคซับซ้อนได้อย่างครอบคลุมทุกโรค ซึ่งจำเป็นต้องใช้สหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary team) เข้ามาร่วมในการดูแลรักษาและมุ่งเน้นบุคลากรหลากหลายสาขา โดยบำรุงราษฎร์มีจุดแข็ง 3C1W ในด้านคุณภาพของการรักษา (Quality of Care) คือ
1) Critical care การรักษาโรควิกฤต-บำรุงราษฎร์มีทีมแพทย์เวชบำบัดวิกฤตที่ได้รับการรับรองจาก American Board of Critical Care Medicine จากสหรัฐอเมริกา และเป็นทีมที่เข้มแข็งและเป็นเสาหลักของโรงพยาบาล ที่พร้อมดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการจัดการอย่างมีระบบ
2) Complicated care การรักษาโรคซับซ้อน บำรุงราษฎร์มีทีมแพทย์ชำนาญการและประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนเกี่ยวเนื่องกับหลายอวัยวะหรือเป็นโรคยากต่อการวินิจฉัย โดยมี Center of Excellence ที่ครอบคลุมการรักษาในทุกโรค ซึ่งรวมถึงการปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ transplantation) มีทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์และความชำนาญการขั้นสูงในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ มากว่า 30 ปี ทั้งการปลูกถ่ายไต, ปลูกถ่ายหัวใจ, ปลูกถ่ายตับ และปลูกถ่ายตา โดยบำรุงราษฎร์เป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย ที่ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจให้แก่ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว
3) Collaboration of Expertise การทำงานร่วมกันของทีมแพทย์ผู้ชำนาญการในหลากหลายสาขาและสหสาขาวิชาชีพ เพื่อร่วมกันให้การบริบาลผู้ป่วยเพื่อผลลัพธ์ของการรักษาที่ดีที่สุด ตัวอย่างที่ชัดเจน คือการตรวจวินิจฉัยโรคหายาก (Rare Disease) ซึ่งเป็นกลุ่มของโรคที่พบจำนวนผู้ป่วยไม่มากในแต่ละโรค ทำให้มีความยากในการตรวจวินิจฉัย จึงจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางหลากหลายสาขา เพื่อประชุมร่วมกันเพื่อหาแนวทางการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมกับอาการโรคของผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ส่งต่อกันมาทางสายเลือดในครอบครัว อาทิ กลุ่มโรคแอลเอสดี กลุ่มโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
4) Wellness and Prevention การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกัน นับเป็นเทรนด์ที่สำคัญของการแพทย์ในอนาคต ที่บำรุงราษฎร์ได้บุกเบิกมากว่า 21 ปี โดยมีศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ที่ให้บริการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคลด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ทันสมัย นอกจากนี้ บำรุงราษฎร์ยังมีการดูแลสุขภาพในเชิงลึกระดับยีน โดยการตรวจยีน เพื่อป้องกันก่อนเกิดโรค (Genetic Testing) เพื่อคาดคะเนสุขภาพในอนาคต ทำให้วางแผนและป้องกันการเกิดโรคร้ายบางชนิดได้อย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยงในการแพ้ยาและทำนายการตอบสนองของยา ช่วยให้เลือกใช้ยาและขนาดยาได้อย่างเหมาะสมและช่วยวางแผนการมีบุตร โดยตรวจโรคทางกรรมพันธุ์บางชนิดที่อาจถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูก
ทั้งนี้ การที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศและก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เนื่องด้วยคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการหลัก ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ประกอบด้วย
1) องค์กรแห่งนวัตกรรม (Innovation) บำรุงราษฎร์เป็นองค์กรที่เปิดรับนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ รวมถึงเทคนิคการรักษาแนวใหม่ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและการรักษาโรคเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ยกตัวอย่างเทคโนโลยีการรักษา Minimally Invasive ที่มีความแม่นยำมากขึ้น แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว และลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ อาทิ การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ (Water Vapor Therapy), การรักษาก้อนเนื้องอกชนิดปกติด้วยการจัดความเย็นจัด (Cryoablation) หรือ AI Lunit ที่ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้แม่นยำและเหมาะสมมากขึ้น หรือหุ่นยนต์ดาวินซีที่เข้ามาช่วยศัลยแพทย์ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยหลายระบบอวัยวะ (Robotic Assisted Surgery) รวมถึงการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม (Genomics) เป็นต้น
2) สถาบันด้านวิชาการทางการแพทย์ (Academic Hospital) บำรุงราษฎร์มีฝ่ายวิจัยและศึกษาที่มีบทบาทมุ่งส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของแพทย์ ทันตแพทย์ และบุคคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ใหม่ รวมทั้งนวัตกรรมในทางการแพทย์และบริการที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินความร่วมมือกับสถาบันทางวิชาการ/มหาวิทยาลัยในระดับประเทศ อาทิ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มหาวิทยาลัย CMKL, วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ จุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, การส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยทั้งงานวิจัยที่เน้นความก้าวหน้าทางการแพทย์, การจัดประชุมทางวิชาการและการอบรมฝึกปฏิบัติ (Workshop) โดยมีแพทย์ของบำรุงราษฎร์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับแพทย์ที่เข้าร่วมอบรม อาทิ การจัดประชุมนานาชาติในการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ที่จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 และการจัดประชุมนานาชาติด้านโรคหัวใจ (International Cardiology Annual Meeting) ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 ในด้านการวินิจฉัยและรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติที่ทำให้เกิดการตายเฉียบพลัน เป็นต้น
3) การมีวัฒนธรรมที่โดดเด่น (Unique Culture) ที่ถ่ายทอดและปฏิบัติสืบต่อกันมาเข้าสู่ปีที่ 42 อันเป็น Rich Heritage อันทรงคุณค่าของบำรุงราษฎร์ ได้แก่ 1. Agility ความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์อย่างรวดเร็ว 2. Un-complacency คือ การที่ไม่หยุดอยู่กับความพึงพอใจที่เกิดขึ้น ทุกคนมีความม่งมั่นในการพัฒนาพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นได้เรื่อยๆ และตั้งใจทำให้ดีกว่าผลงานครั้งที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นได้จากการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพในการรักษา (adaptive to technology) และการ reaccreditation เรื่องของคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยตลอดเวลา เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้มาใช้บริการ และ 3. Compassionate Caring เป็นการส่งมอบการบริบาลด้วยความเอื้ออาทร ดูแลผู้ป่วยและบุคลากรทุกคนเสมือนญาติมิตร
4) การมีเครือข่ายพันธมิตรที่เข้มแข็ง (Partnership) บำรุงราษฎร์มีนโยบายอย่างชัดเจนในการแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อความร่วมมือในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีการกระจายอยู่ในเซกเมนต์ต่าง ๆ มากขึ้น ที่ผ่านมา บำรุงราษฎร์ได้ร่วมมือกับมั่นคงเคหะการและไมเนอร์ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ร่วมเปิดตัวโครงการ RAKxa Wellness ที่บางกระเจ้า ซึ่งเป็นศูนย์บูรณาการสุขภาพและการแพทย์แบบองค์รวม Fully Integrative Wellness & Medical Retreat แห่งแรกในเอเชียที่รวม Advanced Medical Science และ Holistic Wellness ไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการภายใต้โมเดลธุรกิจ Bumrungrad Health Network เพื่อขยายการให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานบำรุงราษฎร์ไปยังกลุ่มเซกเมนต์ใหม่ๆ ของโรงพยาบาลพันธมิตร อาทิ ศูนย์กระดูกสันหลังและศูนย์ข้อ ร่วมกับโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ, ศูนย์กระดูกสันหลัง ร่วมกับโรงพยาบาลนครธน, ศูนย์มะเร็งฮอไรซัน ร่วมกับโรงพยาบาลพิษณุเวช จังหวัดพิษณุโลก, และล่าสุดได้เปิดบริการด้านพันธุศาสตร์ เพื่อยกระดับการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม ร่วมกับสวัสดีราษฎร์คลินิกเวชกรรม จังหวัดนครราชสีมา เพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ในระดับที่หลากหลายขึ้นในโรงพยาบาลพันธมิตรที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงยังขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ สยามพิวรรธน์, เซ็นทรัล, เดอะ มอลล์, อนันดา และแสนสิริ เพื่อการแนะนำโปรแกรมดูแลสุขภาพที่ออกแบบเพื่อให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่มอีกด้วย
รศ.นพ. ทวีสิน ตันประยูร ประธานปฏิบัติการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของ ‘แพทย์’ ถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อาทิ บทบาทองค์กรแพทย์ของบำรุงราษฎร์ในการรักษามาตรฐานทางการแพทย์และจรรยาบรรณ กระบวนการสรรหาแพทย์ใหม่ ๆ ที่มีความชำนาญการและประสบการณ์สูงในแต่ละด้าน เพื่อมาผนึกกำลังกับแพทย์ปัจจุบันของโรงพยาบาล เพื่อให้ครอบคลุมในทุกด้านและส่งมอบประสบการณ์ที่ดีและผลของการรักษาที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ป่วยแต่ละราย
ผศ. นพ. พลกฤต ทีฆคีรีกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ และเวชพันธุศาสตร์
โดยในปีนี้ บำรุงราษฎร์จะให้น้ำหนักด้านการแพทย์ใน 2 ส่วนสำคัญคือ 1. Robotic Surgery Center การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดระบบดาวินซีเข้ามาช่วยศัลยแพทย์ในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยหลายระบบอวัยวะให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และ 2. Genetic มุ่งเน้นการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม (Genomics) ซึ่งจะช่วยระบุความเสี่ยงในการเกิดโรคบางชนิด ทำให้สามารถป้องกันโรคเชิงรุกได้ อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด วางแผนการมีบุตรและป้องกันกลุ่มโรคเสี่ยงทางพันธุกรรมอื่นๆ ในอนาคต รวมถึงตรวจพันธุกรรมเพื่อป้องกันการแพ้ยา ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถเลือกใช้ยาหรือวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะมาเสริมการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นเทรนด์การแพทย์ที่บำรุงราษฎร์ให้ความสำคัญนับจากนี้ต่อไป