แอสตร้าเซนเนก้า จับมือโรงพยาบาลพุทธชินราช ยกระดับการดูแลรักษาเชิงรุก ส่งมอบนวัตกรรม Asthma Smart Kiosk สู่เมืองต้นแบบแห่งการดูแลโรคปอดครบวงจร Healthy Lung Smart City

แอสตร้าเซนเนก้า จับมือโรงพยาบาลพุทธชินราช ยกระดับการดูแลรักษาเชิงรุก

ส่งมอบนวัตกรรม Asthma Smart Kiosk สู่เมืองต้นแบบแห่งการดูแลโรคปอดครบวงจร Healthy Lung Smart City

 

กรุงเทพฯ  บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับโรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ทำการติดตั้ง Asthma Smart Kiosk เดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ผลักดันจังหวัดพิษณุโลกให้เป็นเมืองต้นแบบแห่งการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอย่างครบครัน ภายใต้โครงการ Healthy Lung Smart City เพื่อสานต่อจุดมุ่งหมายในการนำวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาต่อยอด เสริมศักยภาพการวินิจฉัย และการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด ให้ใกล้ศูนย์มากที่สุด โดยผ่านการยึดหลักการดูแลผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โครงการนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 7 ปี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างสม่ำเสมอ

ปัจจุบัน โรคระบบทางเดินหายใจถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญเนื่องมาจากสภาวะอากาศในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยมลพิษ รวมถึงฝุ่น PM 2.5 จากสถิติพบว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหืดถึงวันละ 8-9 ราย คิดเป็น 3,142 รายต่อปี หรือคิดเป็น 3.42 ต่อประชากร 1 แสนคน  ซึ่งผู้ใหญ่จะเสียชีวิตมากกว่าเด็กประมาณ 5 เท่า ทั้งนี้บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ได้ร่วมเดินหน้าผนึกกำลังติดตั้งตู้อัจฉริยะ Asthma Smart Kiosk  โดยจะทำหน้าที่ในการช่วยบุคลากรทางการแพทย์ประเมินคัดกรองและดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ในการผลักดันจังหวัดพิษณุโลก ให้เป็นเมืองต้นแบบแห่งการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอย่างครบครัน   และเป็นการสร้างรากฐานในการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยให้แข็งแกร่ง พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพในระดับนานาชาติ   

นายแพทย์กร ตาลทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “โครงการ Healthy Lung Smart City ต้องการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมที่ทันสมัย ที่จะช่วยยกระดับการดูแลผู้ป่วยโรคหืดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล  และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ภายใต้ข้อจำกัดทางเวลาให้มีความแม่นยำ ช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด และยกระดับการดูแลรักษาเชิงรุกในผู้ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด โดยโครงการนี้ได้ตั้งเป้าที่จะเข้าถึงผู้ป่วยโรคหืดทั่วประเทศ ผ่านการขยายโครงการเชื่อมต่อระบบสาธารณสุขทางไกล ภายในปี 2568 เพื่อลดอัตราการกำเริบของโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังให้เป็นศูนย์”

 

 

นายแพทย์ ขจร สุนทราภิวัฒน์ อายุรแพทย์โรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก อาจารย์แพทย์นักพัฒนาผู้วางรากฐานและสร้างความพร้อมในการดูแลรักษาโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ด้วยการพัฒนาองค์ความรู้การรักษาที่เป็นปัจจุบัน กล่าวว่า “การจัดหาให้มีเครื่องตรวจสมรรถภาพปอดในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง และสร้างเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วยที่เข้มแข็ง ได้ส่งผลให้จังหวัดพิษณุโลกมีความพร้อมหลายด้านในการเป็นเมืองต้นแบบแห่งการดูแลโรคปอดครบวงจร”

 

 

สำหรับตู้อัจฉริยะ Asthma Smart Kiosk จะเปรียบเสมือนผู้ช่วยของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่ในการประเมินระดับการควบคุมโรคหืดของผู้ป่วย รวมถึงประเมินอาการที่อาจบ่งชี้ถึงโรคหืดได้ นอกจากนี้ยังมีวิดีโอสาธิตและสอนวิธีการใช้งานอุปกรณ์สูดพ่นยาสำหรับโรคหืดทุกประเภท รวมถึงการร่วมเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านโรคหืด ผ่านสื่อความรู้เกี่ยวกับโรคหืดและแนวทางการดูแลสุขภาพ โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ คือ ปลอดการใช้ยาและอุปกรณ์ที่ผิดหลักทางการแพทย์ ปลอดการกำเริบเฉียบพลันของโรคหืด และลดการเสียชีวิตด้วยโรคปอดให้เป็นศูนย์

 

โครงการ Healthy Lung Smart City ตั้งเป้าหมายในการนำนวัตกรรมตู้อัจฉริยะ Asthma Smart Kiosk ส่งต่อไปสู่สถานพยาบาลอีกหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างสุขภาพที่ดีให้คนไทยอย่างต่อเนื่อง และเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในอนาคตจะมีการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อขยายการใช้งานในรูปแบบ web-based เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถสแกนข้อมูลผ่าน QR Code และทำการประเมินอาการเบื้องต้น โดยจะช่วยลดความแออัด และลดการรอคอยของผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้อย่างมีนัยสำคัญ 

 

###